Intermittent Fasting (IF) หรือ การอดอาหารเป็นเวลาคือการเทรนด์ทางด้านสุขภาพที่คนดูแลสุขภาพกำลังนิยมทำกันเป็นอย่างมาก จนหลายครั้งเวลาชวนเพื่อนๆ ไปดินเนอร์ ก็มักได้คำตอบว่า “ไปได้ แต่ต้องกินให้เสร็จก่อนสามทุ่มนะจ๊ะ เพราะฉันทำ IF อยู่!”
ทำ IF ดียังไง?… แล้วลดน้ำหนักได้เพราะอะไร?
สาเหตุยอดนิยมของการทำ IF คือ การลดน้ำหนัก/ลดความอ้วน คนส่วนมากมักเลือกทำ IF ด้วยวิธี “16/8” หรืออดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน และกินอาหารได้ภายใน 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งใน 16 ชั่วโมงของการอดอาหารนั้น มักเป็นการงดมื้อเช้าและเริ่มรับประทานได้ตั้งแต่บ่ายโมง ก่อนจะเริ่มอดอาหารอีกครั้งในเวลาสามทุ่ม
สำหรับหลายคน IF จัดเป็นวิธีลดความอ้วนที่ได้ผลดีมาก เพราะในช่วงเวลาที่เราอดอาหาร ร่างกายจะมีการปรับสมดุลฮอร์โมนที่ช่วยในการเผาผลาญ และช่วยเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone) ที่ช่วยสลายไขมันและสร้างมวลกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น การอดอาหารยังช่วยรักษาระดับฮอร์โมนอินซูลินให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ร่างกายสามารถดึงเอาไขมันส่วนเกินในช่องท้องไปใช้ และช่วยให้การตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin Sensitivity) ทำงานได้ดีขึ้นด้วย
IF ไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องลดความอ้วนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ กระตุ้นการเกิดเซลล์ใหม่ เร่งกระบวนการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย และกระตุ้นการสร้างยีนที่ทำให้อายุยืน เรียกว่า IF ช่วยให้เรามีทั้งรูปร่างที่ดี สุขภาพแข็งแรง และยังดูอ่อนเยาว์กว่าเดิมอีกด้วย
เช็คด่วน! ใครบ้างอาจไม่ควรทำ IF
เห็นข้อดีของ IF เพียบขนาดนี้ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าใครๆ ก็เหมาะกับการทำ IF เพราะอย่างที่บอก IF อาจไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักสำหรับทุกคน ว่าแต่… แล้วใครกันล่ะที่อาจไม่เหมาะกับ IF
คำตอบแรก “ผู้หญิง” ค่ะ!
ผลจากการวิจัยจากหลายแห่งระบุว่า การทำ IF ของผู้หญิงอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่ากับการทำ IF ของผู้ชาย เพราะในขณะที่ IF ช่วยให้การตอบสนองต่ออินซูลินในเพศชายทำงานได้ดีขึ้น แต่ในเพศหญิงพบว่า IF กลับทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำงานลดลง
นอกจากนั้น ยังพบกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงอีกเป็นจำนวนมากที่ทำ IF แล้ว มีภาวะประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่ปกติ ด้วยสาเหตุที่กล่าวมานี้ ผู้หญิงจึงควรระมัดระวังในการทำ IF เป็นพิเศษ ที่สำคัญ สาวๆ ที่มีภาวะตั้งครรภ์ยาก หรือกำลังวางแผนจะมีครอบครัว และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มที่ ไม่ควร ทำ IF เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการตั้งครรภ์
ผู้ที่ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดเมื่อต้องการทำ IF
ในการทำ IF ระยะเริ่มแรก อาจทำให้เกิดอาการหิว อ่อนเพลีย และสมองล้า ซึ่งอาการทั้งหมดมักจะดีขึ้น เมื่อทำ IF ต่อไปอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม ความหิวและอ่อนเพลียอาจส่งผลเสียต่อบุคคลบางกลุ่มมากกว่านั้น
ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งในจำนวนดังต่อไปนี้ คุณควรขอคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เมื่อต้องการทำ IF
– ความดันต่ำ
– มีการใช้ยาบางประเภท
– น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน
– มีประวัติของพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ เช่น โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa)
– ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม การทำ IF ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงใดๆ ต่อสุขภาพ ถ้าเราดูแลสุขภาพของเราและคอยสังเกตตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากอดอาหารแล้วพบอาการผิดปกติ ก็สามารถหยุดการอดอาหาร อาการดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะหายไป