‘โรคเอ็มเอส’ หนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเองที่เจาะกลุ่มคนหนุ่มสาว

Health / Others

เรามักเริ่มต้นดูแลสุขภาพกันเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนและระวังโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นในหมู่ผู้สูงวัย แต่จริงๆ แล้ว ความป่วยไข้สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย แถมยังมีโรคบางชนิดที่มุ่งเป้าไปที่วัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือที่เรียกกันว่า โรคเอ็มเอส (MS) 

โรคเอ็มเอส… อันตรายกว่าที่คิด 

เมื่อหลายปีก่อน สำนักข่าวหนึ่งเสนอเรื่องของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสท่านหนึ่งที่บอกว่า จู่ๆ เธอก็มีอาการปัสสาวะไม่ออก เข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์สวนปัสสาวะ หลังจากนอนพักที่โรงพยาบาลหนึ่งคืน เธอเริ่มมีอาการอื่นร่วม คือขยับขาไม่ได้และมองเห็นภาพซ้อน ภายหลังจึงทราบว่าตนเองเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส ซึ่งนับว่าโชคดีที่แพทย์วินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดความพิการตามมาได้

ต้นตอการเกิดโรค

โรคเอ็มเอสจัดเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองชนิดหนึ่ง โดยเกิดจากเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ภายในต่อมน้ำเหลืองได้รับการกระตุ้นจากสารเคมีบางชนิด ทำให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ออกจากต่อมน้ำเหลือง ผ่านเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System – CNS) และเข้าไปทำลายปลอกประสาท (Myelin) ที่ทำหน้าที่หุ้มเส้นประสาทส่วนกลาง คือ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา เมื่อปลอกประสาทเกิดความเสียหาย การส่งสัญญาณจากสมองไปยังเส้นประสาทที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ จึงทำงานได้ช้าลง เกิดเป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย การขับถ่าย และการมองเห็นได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าสาเหตุหรือพฤติกรรมใดกันแน่ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายปลอกประสาทจนนำไปสู่โรคนี้ แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ 

  • พันธุกรรม: หากมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเอ็มเอส สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ จะมีความเสี่ยงป่วยอยู่ที่ 2-3%
  • เชื้อชาติ: ส่วนมากแล้ว ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสมักเป็นชาวยุโรป ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเป็นจำนวนน้อย (ข้อมูลเมื่อปี 2560 อยู่ที่ราว 500 คน) แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้
  • เพศ/อายุ: ส่วนมากพบในคนอายุน้อย คือ 20-40 ปี โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
  • การติดเชื้อไวรัส: ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจะมีความเสี่ยงเกิดโรคเอ็มเอสได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) ที่ทำให้เป็นไข้และต่อมน้ำเหลืองโต
  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองบางชนิด: ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ เบาหวานชนิด 1 หรือลำไส้อักเสบ อาจมีความเสี่ยงการเกิดโรคเอ็มเอส
  • สูบบุหรี่: ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า

สัญญาณของโรคเอ็มเอส

ความแตกต่างของอาการขึ้นอยู่กับว่าเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์เข้าไปทำลายปลอกประสาทส่วนไหน

  • เส้นประสาทตา: ตามัวเฉียบพลัน โดยความรุนแรงอาจมัวเพียงเล็กน้อยหรือถึงขั้นบอดสนิท และมักเกิดกับตาข้างเดียว ในบางครั้ง เมื่อกลอกตาจะรู้สึกเจ็บเบ้าตา
  • ไขสันหลัง: รู้สึกชาบริเวณแขน ขา ลำตัว กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ หรือเบ่งปัสสาวะ/อุจจาระไม่ออก
  • สมอง: เห็นภาพซ้อน เดินเซ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก รู้สึกตัวลดลง

จากอาการข้างต้น เราจะเห็นว่าอาการของโรคเอ็มเอสคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจระบบประสาทต่างๆ ตรวจจอประสาทตา ตรวจเลือด ตรวจน้ำไขสันหลัง และตรวจโดยใช้การทำ MRI 

การรักษา

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอสยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่แนวทางการรักษาที่แพทย์ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

  • ระยะโรคกำเริบเฉียบพลัน: การรักษาในระยะนี้จะเน้นการใช้ยาสเตียรอยด์ เพื่อฟื้นฟูให้ระบบประสาทที่เสียหายกลับมาทำงานอย่างรวดเร็ว รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือด 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยกินยาต่ออีกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์
  • ระยะยาว: ธรรมชาติของโรคเอ็มเอสมักมีการกำเริบเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ของโรค เฉลี่ยปีละครั้งหรือสองปีครั้ง โดยอาจกำเริบในอาการรูปแบบเดิมหรืออักเสบในตำแหน่งใหม่ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อกดภูมิไม่ให้ภูมิผิดปกติมาทำลายเนื้อเยื่อและเพิ่มระยะเวลาปลอดโรคให้นานที่สุด ลดจำนวนรอยโรค ลดการเข้าโรงพยาบาลและความเสี่ยงในการพิการ 

ดูแลตัวเองร่วมกับการรักษา

ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสมักมีอาการอื่นๆ ที่เป็นผลข้างเคียงจากอาการของโรคร่วมด้วย เช่น อ่อนล้า ท้องผูก และปัสสาวะลำบาก รวมทั้งยังอาจเกิดความเครียดสะสม ผู้ป่วยจึงควรดูแลตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ: เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง การทรงตัว และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • กินอาหารที่มีกากใยอาหารสูง: เพื่อช่วยลดอาการท้องผูกที่เกิดจากแรงเบ่งในการขับถ่ายไม่เพียงพอ
  • ฝึกการหายใจ: เพื่อให้กล้ามเนื้อท้องและอุ้งเชิงกรานแข็งแรง จะช่วยให้ปัสสาวะออกได้ดีขึ้น
  • เลิกบุหรี่: เพราะบุหรี่อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • เลี่ยงการออกแดด/ร้อนจัด: เพราะการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
  • ผ่อนคลายความเครียด: อาจใช้วิธีเล่นโยคะ นั่งสมาธิ นวดผ่อนคลาย รวมทั้งพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อให้คลายจากความเครียด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีอาการของโรคเอ็มเอส ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด และต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้ ตามสถิติแล้ว ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถรักษาฟื้นตัวจนหายเป็นปกติ แต่บางรายฟื้นตัวได้เพียงบางส่วน ไม่สามารถหายเป็นปกติ และเกิดความพิการขึ้น 

แม้ว่าโอกาสเกิดโรคเอ็มเอสในคนไทยนั้นพบน้อยมาก แต่เราก็ควรหมั่นสังเกตตัวเองเพื่อที่จะสามารถป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที


ที่มา:
si.mahidol.ac.th
pobpad.com
rama.mahidol.ac.th
thairath.com

บทความที่เกี่ยวข้อง