เมื่อเข้าสู่ ‘หลักสี่’ เรื่องหนึ่งที่สาวๆ ต้องรู้คือ เรากำลังก้าวเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause)
‘วัยก่อนหมดประจำเดือน’ ยังไม่ใช่วัยทอง
ในช่วงวัยนี้ รังไข่ของผู้หญิงจะค่อยๆ ลดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้สาวๆ มีประจำเดือนผิดปกติ ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะอยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือนราว 4 ปี แต่บางคนอาจน้อยกว่านั้นคือ 1-2 ปี หรือไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ วัยก่อนหมดประจำเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ จากนั้นร่างกายจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (Menopause) โดยสัญญาณที่ชัดเจนของวัยทองคือเมื่อไม่มีประจำเดือนติดต่อกันครบ 12 เดือน
เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ในวัยก่อนหมดประจำเดือน ยังมีโอกาสที่สามารถตั้งครรภ์ได้อยู่ เพราะฉะนั้นหากไม่ได้วางแผนจะมีลูก สุภาพสตรีในวัยก่อนหมดประจำเดือนยังคงต้องใช้การคุมกำเนิด
สัญญาณของวัยก่อนหมดประจำเดือน
อาการของสาวๆ แต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งและไม่รุนแรง ส่วนบางคนมีอาการชัดเจนกว่าเพื่อน แต่สัญญาณเหล่านี้คือการบ่งบอกว่าเรากำลังเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือนแล้ว
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ: บางคนประจำเดือนมาช้า บางคนมาเร็วกว่าที่เคย หรืออาจมีประจำเดือนมาก/น้อยกว่าปกติ สำหรับสาวๆ ที่ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วในช่วงประมาณ 7 วัน ถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของวัยก่อนหมดประจำเดือน แต่ถ้าเว้นห่างตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ถือว่าอยู่ช่วงปลายแถวและกำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้วัยทองแล้ว
- ร้อนวูบวาบ/นอนไม่หลับ: ผู้หญิงหลายคนมีอาการร้อนวูบวาบซึ่งเป็นผลทำให้นอนไม่หลับ แต่บางทีก็อาจนอนไม่หลับโดยไม่ได้เกิดอาการร้อนวูบวาบเลยก็ได้
- อารมณ์แปรปรวน: หงุดหงิด ขี้รำคาญ และอาจรวมถึงโอกาสในการเกิดภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของอารมณ์แปรปรวนอาจมาจากอาการร้อนวูบวาบและนอนไม่หลับ
- ช่องคลอดแห้ง/หย่อน: เป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีความต้องการทางเพศลดลงตามไปด้วย เกิดอาการเจ็บช่องคลอดระหว่างมีร่วมเพศ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อทางช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะเล็ด: โดยเฉพาะเวลาจามหรือไอ และปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ระดับคลอเลสเตอรอลเปลี่ยนแปลง: ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีหน้าที่สำคัญในการลดระดับไขมันเลว (LDL) ดังนั้นเมื่อเอสโตรเจนลดลง ร่างกายจึงมี LDL เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
สาววัยก่อนหมดประจำเดือนควรพบแพทย์ไหม?
อาการที่กล่าวไปข้างต้นเป็นอาการปกติของวัยก่อนหมดประจำเดือน หากอาการเหล่านี้ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตและกระทบกับสุขภาพของคุณมากนัก ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ แต่หากมีอาการใดอาการหนึ่งที่รุนแรง เช่น ประจำเดือนมามากกว่าปกติ (ขนาดที่ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1-2 ชั่วโมง) มีประจำเดือนนานเกิน 7 วัน หรือมีประจำเดือนในแต่ละรอบห่างกันน้อยกว่า 21 วัน เราแนะนำว่าคุณควรปรึกษาสูตินารีแพทย์ หรือหากเรื่องเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตคู่ คุณและคู่ครองอาจลองไปใช้บริการนักบำบัดร่วมกัน
วิธีช่วยลดอาการวัยก่อนหมดประจำเดือน
หลายคนใช้ยาคุมกำเนิดช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ ไม่ก็ใช้ฮอร์โมนทรีตเมนต์ (Hormone treatment) ซึ่งทั้งสองวิธีควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว ยังมีวิธีดูแลตัวเองอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้สาวๆ วัยก่อนหมดประจำเดือนมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ลดลง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: นอกจากจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียด รวมถึงอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ด้วย
- เลิกสูบบุหรี่: ตามสถิติแล้ว ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือนก่อนผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 1-2 ปี สาวๆ ที่ไม่ใช่นักสูบจึงมีเวลาจะลั้นลากับชีวิตได้นานกว่า รวมทั้งมีอาการที่ไม่รุนแรงอีกด้วย
- ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: เพราะแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ และสาวๆ นักดื่มยังจะมีโอกาสเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือนเร็วกว่าสาวๆ ที่ไม่ดื่มอีกเช่นกัน
- นอนให้เพียงพอ: พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับตารางการนอน จะช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามิน D: เพราะสารอาหารสองชนิดนี้จะช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนที่จะเกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือน รวมทั้งอาจปรึกษาแพทย์ด้วยว่าคุณควรรับประทานวิตามินเสริมเป็นพิเศษหรือไม่
- รับประทานผักใบเขียว: โดยเฉพาะผักโขมและผักเคล รวมทั้งธัญพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป จะช่วยลดอาการวัยก่อนหมดประจำเดือนได้
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน/ช็อกโกแลต: ควรเปลี่ยนจากเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ไปเป็นชาสมุนไพร รวมทั้งเลือกดื่มแบบเย็นแทนร้อนเพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ และเปลี่ยนจากช็อกโกแลตเป็นดาร์กช็อกโกแลต 85% ขึ้นไป โดยรับประทานครั้งละจำนวนน้อย
อย่างที่กล่าวไป วัยก่อนหมดประจำเดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่อเข้าสู่วัยนี้ คุณจึงไม่ควรกังวลหรือหงุดหงิดกับมันจนเกินไป แต่ควรยอมรับและพยายามดูแลสุขภาพกาย-ใจของตัวเองให้แข็งแรง เพื่อรับมือกับวัยที่เปลี่ยนไป รวมทั้งเปิดใจเพื่อรอรับสิ่งดีๆ ในด้านอื่นๆ ที่จะเข้ามาพร้อมกับตัวเลขอายุที่มากขึ้น
–