50% ของผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีโอกาสเผชิญกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม” หรือภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจนเสื่อมสภาพลง สาเหตุของข้อเข่าเสื่อมมาจากอายุที่มากขึ้น หรือผู้ป่วยบางรายที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป มีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ-พับเพียบ เป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง ก็อาจประสบกับปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้ตั้งแต่ในช่วงอายุ 50 ปี โดยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า เนื่องจากการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกายที่แตกต่างกัน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะรู้สึกปวดบริเวณข้อเข่า ข้อเข่าบวม หรือหากมีอาการมาก ข้อเข่าอาจผิดรูป และเดินผิดรูป ทำให้มีผลต่อการใช้งานข้อเข่าในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก แต่โรคข้อเข่าเสื่อมก็ไม่ใช่โรคร้ายที่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะหากเพิ่งเริ่มเป็นในระยะเริ่มต้น จะสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาและการออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า หรือหากมีอาการมาก การผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty/Knee Replacement Surgery) ก็จัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก
“ผ่าตัดข้อเข่าเทียม” ให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนานอีกครั้ง
การผ่าตัดข้อเข่าเทียม มี 2 แบบ คือ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อบางส่วน (Partial Knee Arthroplasty) และการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty) โดยผลลัพธ์จากการผ่าตัดนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม คือ ผู้ป่วยมากกว่า 90% สามารถใช้งานข้อเข่าเทียมได้นานถึง 10-15 ปี
เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ายังทำให้ข้อเข่าเทียมในปัจจุบันมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ เช่น ข้อเข่าเทียมที่มีองศาของการงอ/เหยียดได้มากกว่าในอดีต ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น ข้อเข่าเทียมที่หมุนตัวได้เหมือนข้อเข่าธรรมชาติมากขึ้น และข้อเข่าเทียมที่เหมาะกับสรีระข้อเข่าผู้หญิง เป็นต้น โดยการจะเลือกใช้ข้อเข่าแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ ความต้องการของผู้ป่วย และงบค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้
“ผ่าตัดข้อเข่าเทียม” ใช้เวลาน้อย ฟื้นตัวเร็ว
เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดแผลเล็กและการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยระบุตำแหน่งการจัดกระดูกและข้อขณะผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดข้อเข่าเทียมในปัจจุบันสะดวกมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดมักใช้เวลา 1.5-2 ชั่วโมง หลังผ่าตัดเพียง 1 วัน ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้โดยมีอุปกรณ์ช่วยเดิน และกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ 3-5 วันหลังผ่าตัด จากนั้นประมาณ 2-6 เดือน ข้อเข่าเทียมจะแข็งแรงเสมือนเป็นข้อเข่าธรรมชาติของผู้ป่วยเอง
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัย แพทย์จะประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด และมีการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัด เช่น
– พบทันตแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพในช่องปากและฟัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มาจากช่องปาก
– ดูแลแผลตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
– หากได้รับยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดหรือโรคประจำตัวอื่นๆ ควรแจ้งแพทย์ก่อน โดยแพทย์อาจสั่งให้งดยาก่อนผ่าตัด 7 วัน เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด
– ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและรอบเข่าให้แข็งแรง เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดและการพักฟื้นหลังผ่าตัด
ดูแลข้อเข่าเทียมให้อยู่กับเรานานๆ
แม้ผู้ป่วยจะผ่าตัดข้อเข่าเทียมและสามารถใช้งานข้อเข่าในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่มีปัญหาแล้ว แต่ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเหมือนกับผู้ป่วยที่ยังมีอาการข้อเข่าเสื่อมอยู่ เพื่อเป็นการถนอมข้อเข่าเทียมให้มีอายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น โดยมีวิธีดูแลดังนี้
– หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ/ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งบนเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง/ไขว้ขา ขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น หรือยกของหนัก
– จัดบ้านให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางตามทางเดิน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หากจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรใช้ราวจับทั้งสองด้าน
– ควรใช้โถสุขภัณฑ์แบบนั่งราบ ติดตั้งราวจับภายในห้องน้ำ และอาจจัดเก้าอี้ไว้นั่งอาบน้ำเพื่อเพิ่มความปลอดภัย