Office Syndromes คือกลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อยในคนวัยทำงาน เกิดจากการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมขณะทำงาน มักจะเกิดกับพนักงานออฟฟิศที่มีชีวิตเคร่งเครียดติดโต๊ะทั้งวัน แต่ปัจจุบันเมื่อคนหันมา Work-from-home กันมากขึ้น โรค Office Syndromes ก็เลยตามมาเป็นโรคยอดฮิตถึงในบ้านไปด้วย
กลุ่มอาการ Office Syndromes ที่พบบ่อย
อาการปวดเรื้อรังบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลัง
มักเกิดจากการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น นั่งหลังงอ ใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม หรือนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ และสะบักหลังอยู่ในสภาพเมื่อยเกร็งสะสม จนเกิดอาการปวดเรื้อรัง และอาจลามไปถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
นิ้วล็อก มือชา เอ็นอักเสบ
อาการนิ้วล็อกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเป็นสัญญาณบอกว่ามีการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นบริเวณนิ้วมือ หรือมีพังผืดยึดจับบริเวณนิ้วมือหรือข้อมือ ซึ่งเกิดจากการวางแขนและมืออยู่ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่นการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ต้องพิมพ์งานบนแป้นคีย์บอร์ด หรือจับเมาส์อยู่ตลอด
ปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน
คนทำงานมักเกิดความเครียดจากการทำงานเป็นเรื่องปกติ แต่หากปล่อยให้ความเครียดสะสม ก็อาจเสี่ยงต่อโรคปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้ นอกจากความเครียดแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลต่ออาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้เช่นกัน เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศร้อน ขาดสารอาหาร หรือขาดฮอร์โมนบางชนิด
โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์
โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ หรือ Computer Vision Syndrome คือโรคของคนทำงานในยุคใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนในการทำงานและในชีวิตประจำวันเป็นประจำ แสงจ้าจากอุปกรณ์เหล่านี้ประกอบกับการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่พัก อาจทำให้กล้ามเนื้อตาล้า เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ระคายเคืองตา ปวดตา ตาพร่า ไปจนถึงการเกิดภาพเบลอ ภาพซ้อน หรือปวดศีรษะ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกหรือต้อหินตามมา
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
พฤติกรรมการนั่งทำงานเป็นเวลานาน จนลืมเข้าห้องน้ำ หรือกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ อาจทำให้แบคทีเรียที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตจนเกิดการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะได้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชายทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายกว่า
กระเพาะอาหารอักเสบ
คนทำงานส่วนใหญ่มักอยู่ในภาวะเครียด กดดัน เร่งรีบ จนรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ใต้ชายโครงซ้าย และอาจปวดแน่นถึงหน้าอก โดยอาการปวดนั้นมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร และหากเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารปริมาณมากเกินไปในหนึ่งมื้อ ก็อาจเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนเพิ่มไปอีก โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ปรับเปลี่ยนก่อนร่างพัง
จากตัวอย่างกลุ่มอาการ Office Syndromes ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเองทั้งนั้น กรมควบคุมโรคได้แนะนำ หลัก 3 ป. “ปรับ – เปลี่ยน – ประจำ” สามคำจำไว้เตือนตัวเองทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายพังจนเกินซ่อม
- ปรับสภาพแวดล้อม
เริ่มต้นด้วยสภาพแวดล้อมดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง ควรลงทุนลงแรงกับการปรับสภาพแวดล้อมและจัดเตรียมอุปกรณ์ในสำนักงานที่เหมาะสม เริ่มจากปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา ระยะห่างจากสายตาถึงหน้าจอควรอยู่ในระยะประมาณ 45 – 70 เซนติเมตร ใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ได้ขนาดเหมาะสมกัน เพื่อวางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา สามารถวางมือและแขนโดยไม่ทำให้ข้อมือบิดหรืองอจนเกินไป ระดับเก้าอี้ที่นั่งทำงานต้องไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป สามารถวางเท้าแนบกับพื้นได้โดยไม่ต้องเขย่งเท้า และสามารถปรับให้นั่งหลังตรงหลังชิดกับพนักพิง
- เปลี่ยนพฤติกรรม
ในขณะที่มือถือเมาส์และหน้าเฝ้าจอทุกครั้ง ให้เรายึดหลัก “10-20-60” คือทุก 10 นาทีให้พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทุก 20 นาทีให้เปลี่ยนอิริยาบถ พักดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ และทุกๆ 60 นาที ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย
ควรถนอมดวงตาด้วยการกระพริบตาบ่อยๆ เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมาหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ไม่ให้ดวงตาแห้ง ควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 3 – 5 วินาทีอยู่เป็นระยะ หากรู้สึกระคายเคืองตา แสบตา หรือปวดตาให้พักสายตาทันที
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และถูกหลักโภชนาการ หากงานยุ่งจนไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหาร ควรหาตัวช่วยมาอำนวยความสะดวก ทุกวันนี้มีร้านอาหารมากมายที่พร้อมจำหน่ายอาหารสุขภาพ และบริการส่งถึงบ้าน
- บริหารร่างกายเป็นประจำ
ยาวิเศษที่ช่วยป้องกันโรค Office Syndromes และอีกหลายโรคในโลกนี้ได้ผลดี คือการออกกำลังกายและบริหารร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 30 – 1 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพิ่มความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเมื่อยล้า ลดการเจ็บป่วยของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแกร่งขึ้นและยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ด้วย
ตัวอย่างท่าบริหารร่างกายทำง่ายได้ทุกที่
- ท่าบริหารต้นคอ
นำมือข้างซ้ายอ้อมไปจับศีรษะด้านขวา แล้วออกแรงดึงมาทางด้านซ้ายจนรู้สึกตึง ค้างไว้แล้วนับ 1-10 จากนั้น สลับใช้มือข้างขวาอ้อมไปจับศีรษะด้านซ้ายแล้วทำเช่นเดียวกัน จากนั้น ให้ประสานมือไว้บริเวณท้ายทอยแล้วดันไปด้านหน้าจนรู้สึกตึง ค้างไว้แล้วนับ 1-10
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่
วางแขนไว้ข้างลำตัวแล้วยกไหล่ขึ้นไปจนสุด ปล่อยค้างไว้แล้วนับ 1-10 จากนั้นกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วปล่อยค้างไว้นับ 1-10
- ท่าบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขน
ประสานมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันแล้วยืดเหยียดแขนขึ้นไปด้านบนจนสุดแขน เงยหน้ามองขึ้นด้านบน เพื่อเปลี่ยนท่าทางของช่วงคอ ค้างไว้แล้วนับ 1 – 10 ปล่อยมือลง
- ท่าบริหารนิ้วและฝ่ามือ
ให้กำมือทั้งสองข้างให้แน่นที่สุด ค้างไว้แล้วนับ 1 – 5 จากนั้นค่อยๆ คลายออกช้าๆ โดยเหยียดนิ้วและกางนิ้วมือออกให้มากที่สุด ค้างไว้แล้วนับ 1 – 5 จากนั้นค่อยๆ กลับสู่ท่าปกติ แล้วทำซ้ำเช่นเดิมประมาณ 2 – 3 รอบ
อ้างอิง:
http://mwi.anamai.moph.go.th
https://pr.moph.go.th
https://med.mahidol.ac.th
https://www.phyathai.com
http://www.chularat304inter.com
https://www.thaihealth.or.th