ชัก…อยากจะช่วย เมื่อพบผู้ป่วยกำลังชัก

Brain / Health

เมื่อพูดถึง “โรคลมชัก” เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่า หมายถึงโรคหรือความเจ็บป่วยอะไร แต่หากเปลี่ยนเป็นพูดว่า “โรคลมบ้าหมู” ส่วนใหญ่จะถึงบางอ้อในทันที…ใช่ครับ…เมื่อก่อนคนไทยเรียกโรคที่มีอาการชัก เกร็ง กระตุก ว่าโรคลมบ้าหมู  แต่คำนี้ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดถึงสาเหตุและอาการของโรค เกิดการตีตราและลดทอนโอกาสในการดำเนินชีวิตอย่างปกติของผู้ป่วย ปัจจุบันจึงมีการเรียกชื่อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับตัวโรคมากขึ้นเป็น “โรคลมชัก”

ความผิดปกติที่ก่อให้เกิดอาการชัก

โรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติทุกชนิดที่เกิดขึ้นต่อเนื้อสมองสามารถทำให้เกิดอาการชักได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือโดยพันธุกรรม อาทิเช่น เนื้อสมองเจริญเติบโตผิดปกติ สารเคมีในสมองผิดปกติ พันธุกรรมผิดปกติ หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ภาวะทุพโภชนาการหรือความผิดปกติต่อสมองระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติต่อสมองระหว่างคลอด อุบัติเหตุทางศีรษะ การติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักนั้นมีหลากหลายและพบได้ในทุกช่วงอายุ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสที่จะได้พบเห็นผู้ป่วยหรือพบคนที่กำลังมีอาการชักได้ทั่วไปในสังคม ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคลมชักมากกว่า 5 แสนคนและมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก  

ทำอย่างไร…หากเจอผู้ป่วยมีอาการชัก

อาการของโรคลมชักที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุดคืออาการเกร็งกระตุกทั้งตัว แต่แท้จริงแล้วอาการชักมีรูปแบบที่หลากหลายกว่านั้น บางคนอาจจะมีอาการเหม่อนิ่ง กระพริบตาถี่ๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ บางคนมีอาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น ทำปากขมุบขมิบ ขยำมือ เกร็งหรือกระตุกส่วนใดส่วนหนึ่งหรือซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางครั้งอาจจะมีเสียงพูดแปลกๆ มีอาการตัวอ่อนล้มลงไป มีอาการใจสั่น มีอาการขนลุก เป็นต้น แต่อาการทุกรูปแบบของลมชัก เกินกว่า 90% จะหยุดเองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะมีอาการชัก ไม่ใช่จากอาการของโรคลมชักเองโดยตรง แต่จะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะที่มีอาการมากกว่า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถควบคุมร่างกายหรือระมัดระวังตนเองได้ เช่น ตกจากที่สูง ตกคูคลองหนองน้ำ อุบัติเหตุจากการใช้ยานพาหนะ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือถูกของมีคมบาด ทิ่ม ตำ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชักว่า 

“ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”

เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยเกิดอาการชัก คนส่วนใหญ่มักจะพยายามหาสิ่งของมาใส่ในปากของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกัดลิ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าการกัดลิ้นนั้นจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเนื่องจากลิ้นขาด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ใดเข้าไปในปากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ อาทิ ทำให้ฟันหัก ฟันหลุด หรือเศษวัสดุที่ขาดหลุดไปอุดทางเดินหายใจของผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้นการปฐมพยาบาลผู้ป่วยขณะมีอาการชักที่ดีที่สุดคือ การไม่พยายามไปขัดขวางอาการของผู้ป่วย ไม่งัดหรือใส่อะไรไปในปาก ไม่ง้างแขนหรือถ่างขาที่กำลังเกร็ง ไม่กดหน้าอกเพราะผู้ป่วยที่มีอาการชักไม่ได้หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้พยายามตั้งสติ จับเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนหยุดชัก ช่วยดูแลความปลอดภัยระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น หาวัสดุอ่อนนุ่มรองศีรษะ ช่วยประคองไม่ให้ตกจากโต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นที่ต่างระดับ และเมื่อผู้ป่วยหยุดชักแล้วต้องสังเกตอาการหลังชัก ซึ่งก็จะมีอาการแตกต่างกันไป อาทิ ซึมและหลับไป สับสน วุ่นวาย เดินไปเดินมา หรือมีอาการก้าวร้าว ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วผู้ป่วยจะค่อยๆ รู้ตัวกลับมาเป็นปกติ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสับสนหลังชัก ให้ดูแลความปลอดภัยระหว่างนั้นจนกว่าผู้ป่วยจะกลับเป็นปกติ แล้วจึงค่อยถามไถ่และให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของผู้ป่วย หากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการชักนานเกินกว่า 5 นาที ได้รับบาดเจ็บจากอาการชัก เป็นการชักครั้งแรกในชีวิต หรือมีอาการชักซ้ำหลายรอบ สามารถโทรแจ้ง 1669 สายด่วนฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุและขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือได้ 

โรคลมชัก…อยากจะรักษา

การให้การวินิจฉัยผู้ป่วยต้องอาศัยข้อมูลจากประวัติเป็นหลักว่าอาการนั้นเข้าได้กับอาการชักหรือไม่ ดังนั้นหากมีคลิปวิดีโอขณะมีอาการมาด้วยก็จะช่วยให้สามารถให้การวินิจฉัยได้ง่ายยิ่งขึ้น แล้วจึงจะตรวจร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติทางระบบประสาท และส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองและเอกซเรย์สมองเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการชักต่อไป เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก ก็จะได้รับการรักษาด้วยยากันชัก ควบคู่ไปกับรักษาไปตามสาเหตุของโรค ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากันชักตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ หรือตรวจพบความผิดปกติของเนื้อสมอง ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจประเมินเพื่อรับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป 

ทำอย่างไร…ห่างไกลโรคลมชัก

แม้ว่าโรคลมชักจะมีสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็มีสาเหตุบางส่วนที่สามารถป้องกันหรือทุเลาความรุนแรงลงได้ อาทิ การดูแลสุขภาวะของมารดาขณะตั้งครรภ์ มีการวางแผนครอบครัว ตรวจสุขภาพร่างกายก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์มีสุขภาวะที่ดีที่สุด การคลอดที่ได้มาตรฐานและไม่มีภาวะแทรกซ้อน การสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยต่างๆ เมื่อต้องขับขี่หรือทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตต่อศีรษะ เพื่อลดแรงกระแทกต่อศีรษะและเนื้อสมอง การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะไปเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคลมชักต่อไป 

นอกเหนือจากการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้ป่วยโรคลมชักขณะมีอาการแล้ว การให้โอกาสผู้ป่วยได้เรียนหนังสือ ได้ทำงาน หรือดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติตามศักยภาพและความสามารถ เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจากสังคม เพราะในขณะที่ไม่มีอาการชัก ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่จะยังคงมีทักษะและความสามารถไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ได้เรียนหนังสือหรือทำงานตามศักยภาพ ผู้ป่วยก็มีโอกาสหายขาดจากโรคลมชัก และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติได้ต่อไป  

บทความที่เกี่ยวข้อง