ผู้หญิงกับโรคหัวใจ จะวัยไหนก็เสี่ยงได้

Health / Others

“โรคหัวใจ” เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักมองว่าไกลตัว ด้วยความเข้าใจที่ว่า โรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะวัยไหนๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้ไม่ต่างกัน   

จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาคม American Heart Association ระบุไว้ว่า ช่วงอายุของผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้าทำการรักษาภายในโรงพยาบาลนั้น ลดลงมาอยู่ระหว่าง 35-54 ปี มากขึ้น ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือในจำนวนดังกล่าวเป็น “ผู้ป่วยเพศหญิง” โดยเพิ่มขึ้นจาก 27% ระหว่างปี 1995-1999 ไปสู่ 32% ระหว่างปี 2010-2014 ขณะที่ตัวเลขของผู้ป่วยเพศชายนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

สำหรับโรคหัวใจเป็นโรคที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยสามารถแยกย่อยออกเป็นหลายกลุ่มโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมีตัวเลขสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง โดยผลของโรคดังกล่าวนับว่ามีความรุนแรงและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

1. ปัจจัยเสี่ยง

ความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจในกลุ่มผู้หญิงอายุน้อยมีผลมาจากหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 

1.1 ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ 

นอกจากเพศและอายุแล้ว พันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือเครือญาติสายตรงเป็นโรคหัวใจก่อนวัย จะทำให้โอกาสของการเป็นโรคดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้น 

1.2 ปัจจัยที่สามารถแก้ไขและป้องกันได้ 

● การเฝ้าระวังโรคในผู้หญิงมีบทบาทน้อยกว่าผู้ชาย 

ด้วยในอดีตนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญไปกับการตรวจหาโรคหัวใจในเพศชายมากกว่า ซึ่งการเฝ้าระวังโรคหัวใจในผู้หญิงนั้นมีบทบาทน้อยกว่า ทำให้โอกาสในการเข้าถึงการรักษาและป้องกันโรคมีน้อยลงตามไปด้วย แม้ว่าในเวลานี้จะมีความเข้าใจในตัวโรคและความก้าวหน้าด้านการรักษามากขึ้นก็ตาม 

● อาการบ่งชี้ไม่ชัดเจน

ด้วยอาการของโรคหัวใจที่แสดงออกในผู้หญิงนั้นแตกต่างไปจากที่แสดงออกในผู้ชาย โดยอาการบ่งชี้ของโรคหัวใจในผู้ชายที่เห็นได้ชัดเจนคืออาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง ขณะที่อาการในผู้หญิงนั้นจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่ปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก เวียนศีรษะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตัวคนไข้หรือแม้แต่แพทย์เอง ในบางครั้งก็อาจไม่ทันสังเกตว่าอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของการเป็นโรคหัวใจ 

● พฤติกรรมการบริโภค

ความนิยมในการบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด รวมถึงอาหารรสจัด ทั้งหวานจัดและเค็มจัด เป็นอีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยโรคเรื้อรังดังที่ว่ามานี้สัมพันธ์โดยตรงไปกับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น 

● ความเครียด ทำงานหนัก อดนอน

ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการใช้เวลาไปกับการทำงานมากเกินพอดี ส่งผลให้หัวใจมีการบีบตัวมากขึ้นและจังหวะการเต้นเร็วขึ้น ซึ่งนั่นจะไปกระตุ้นให้หัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ  

● การสูบบุหรี่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้สูบบุหรี่

มีการศึกษาพบว่า ปัจจุบัน ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากขึ้น หรือแม้ว่าจะไม่สูบบุหรี่ แต่ก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้สูบบุหรี่ ซึ่งนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่นับว่าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ไม่ว่าจะทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ หัวใจเต้นเร็ว ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต  

● ขาดการออกกำลังกาย 

เมื่อเรารับประทานอาหารในปริมาณมากโดยไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่บริโภคเข้าไป สามารถส่งผลให้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนลงพุง ถุงลมโป่งพอง และมะเร็ง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด 

2. สัญญาณของโรค 

● หายใจไม่อิ่ม หายใจสั้น หายใจเข้าไม่เต็มปอด  

● ปวดกราม ปวดไหล่ ปวดแขน 

● วิงเวียนศรีษะ

● เจ็บ/แน่นบริเวณกลางหน้าอก หรือด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน รู้สึกอึดอัดเหมือนมีของหนักมาทับที่หน้าอก ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ

● เหนื่อยง่ายเวลาออกกําลังกาย หรือเคลื่อนไหวเร็วๆ 

● มีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นกลางดึก

● เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ

● ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ 

● ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

3. การป้องกันโรคหัวใจกับหลักการ 3 อ. 

  • อาหาร

ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ และมีความหลากหลายในแต่ละวัน โดยเพิ่มอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ แป้งไม่ขัดสี เน้นอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันอย่างเนื้อไก่ หรือเนื้อปลา ซึ่งปลาที่มีไขมันดีจะช่วยให้หัวใจสามารถทำงานได้ดีขึ้น

หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน และเค็ม อาหารแปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง อาหารหมักดอง รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และอาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก ไข่ปู มันปู ไข่กุ้ง ไข่ปลา เป็นต้น 

  • ออกกำลังกาย

สิ่งที่มักเป็นคำถามเสมอ คือผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่? คำตอบคือสามารถออกได้และทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3–4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30–45 นาที หรืออาจจะหาเวลาสัก 10 นาทีต่อวัน เพื่อขยับร่างกายเท่าที่จะทำได้ก็มีประโยชน์ในระยะยาวเช่นกัน  

สำหรับการออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจแข็งแรง จะเป็นการออกกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างต่อเนื่องพร้อมกัน เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน โดยการออกกำลังกายดังกล่าวจะช่วยให้ออกซิเจนไปเผาผลาญอาหารและไขมันที่สะสมในร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนสูบฉีดทั่วร่างกาย ส่งผลให้ปอดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถทำร่วมกับการออกกำลังกายแบบแรงต้านที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายออกแรงต้านกับน้ำหนักหรือแรงโน้มถ่วง หรือเวทเทรนนิ่งได้ สิ่งสำคัญคือไม่ควรออกกำลังกายมากหรือหักโหมจนเกินไป และควรงดออกกำลังกายในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น โรคหัวใจล้มเหลว

  • อารมณ์

เพราะอารมณ์และความเครียดส่งผลต่อร่างกายโดยตรง เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สารคอร์ติซอลจะมีผลทำให้ร่างกายผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นและตับผลิตคอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้ 

เราสามารถจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ดังกล่าวได้หลากหลายวิธี อาทิ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การเลือกทานอาหารที่ช่วยบำบัดความเครียดให้ร่างกาย เช่น ชาเขียว อัลมอนด์ ปลาแซลมอล ผักโขม อโวคาโด ดาร์กช็อกโกแลต โดยทานในปริมาณที่พอเหมาะ รวมทั้งการทำสมาธิ การนวดผ่อนคลาย ฟังเพลง ท่องเที่ยว ทำอาหาร หรือแม้แต่การหัวเราะ ซึ่งช่วยลดฮอร์โมนความเครียดได้เช่นกัน  

การจะมีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุขได้มากแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองเป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากหลักการ 3 อ. แล้ว การพักผ่อนอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่ทางอ้อม รวมไปถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี ก็สามารถเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันเราให้ห่างไกลจากโรคหัวใจได้เช่นกัน  

อ้างอิง:

www.uhhospitals.org
www.edition.cnn.com
www.everydayhealth.com
www.hopkinsmedicine.org
www.healthaddict.com
www.paolohospital.com
www.rama.mahidol.ac.th
www.phyathai.com
www.thaihealth.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง