คุณบี-ครูสาววัย 30 ปีมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาด้วยโรคท้องผูก โดยที่ผ่านมาทางโรงเรียนถูกสั่งปิดเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 จึงต้องทำการสอนนักเรียนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งพฤติกรรมหลักช่วงนี้คือการนั่งทำสื่อการเรียนการสอนและการสอนออนไลน์หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง นอกจากการใช้ชีวิตในที่พักแล้วก็แทบจะไม่ได้ออกไปนอกบ้านเพราะกังวลเรื่องโควิด เดิมทีครูบีมีอาการถ่ายลำบากต้องรับประทานชาสมุนไพรหรือยาระบายช่วย แต่ช่วงนี้อาการแย่ลง ยาเดิมที่ใช้ก็ไม่ค่อยได้ผล ทำให้อืดอัดแน่นท้องมาก บางครั้งเจ็บบริเวณรูทวารหรือถ่ายมีเลือดปนหากอุจจาระแข็ง ทำให้ครูบียิ่งเครียดมากขึ้น เชื่อว่าหลายๆ คนคงเจอปัญหาแบบเดียวกันกับครูบีบ้างไม่มากก็น้อย
ท้องผูกแบบไหนเรียกว่า ‘ท้องผูกเรื้อรัง’
ท้องผูกเรื้อรังเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและนับเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ การที่จะบอกว่าเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังนั้นต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3 เดือน
ซึ่งการเกิดท้องผูกเรื้อรังนั้นอาจจะเกิดแบบมีหรือไม่มีสาเหตุก็ได้ แต่ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการเกิดแบบไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนคือ เกิดจากการทำงานของลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ อาจเคลื่อนไหวช้าลง หรือมีการทำงานของหูรูดทวารและลำไส้ตรงส่วนปลายที่ไม่สัมพันธ์กัน ส่วนการเกิดท้องผูกเรื้อรังแบบมีสาเหตุนั้นอาจเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกอุดตัน ลำไส้ตีบ เกิดจากยาบางชนิด ระบบฮอร์โมน หรือระบบประสาทผิดปกติ เป็นต้น แต่การเกิดท้องผูกเรื้อรังแบบมีสาเหตุนั้นพบได้น้อยกว่า
ปรับพฤติกรรม ลดอาการท้องผูก
โรคท้องผูกเรื้อรังถึงแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็กระทบกับคุณภาพในการดำเนินชีวิตอยู่ไม่น้อย การปรับพฤติกรรมบางอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันนั้น มีส่วนช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก ซึ่งพฤติกรรมที่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการท้องผูกลองปรับนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองในชีวิตประจำวันดังนี้
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยควรมีกากใย (fiber) อย่างน้อยวันละ 25 กรัม (ผัก 3-5 ทัพพี และ ผลไม้ 2-3 กำปั้นมือ) และต้องดื่มน้ำให้เพียงพอร่วมด้วย เพื่อช่วยให้เกิดมวลอุจจาระและกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวและขับถ่ายออกไป ข้อควรระวัง คือหากรับประทานกากใยมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดแน่นท้องได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน
- การดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น ในขณะที่ชาอาจสัมพันธ์กับอาการท้องผูก จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มชา หากทำให้มีอาการท้องผูกมากขึ้น
- นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์บางสายพันธ์ อาจมีประโยชน์ในการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย
- การออกกำลังกายหรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ระดับปานกลางถึงมากจะยิ่งได้ประโยขน์
- ควรอุจจาระให้เป็นกิจวัตร เช่น ช่วงหลังตื่นนอน หลังรับประทานอาหาร หลังออกกำลังกาย โดยหากเริ่มรู้สึกปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระก็ควรรีบไปเข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรรีรอทำธุระอย่างอื่นก่อน
- การปรับท่านั่งในการขับถ่ายอุจจาระ โดยปรับเป็นท่านั่งยอง หากนั่งชักโครกอาจปรับท่าโดยการหาอุปกรณ์มารองใต้เท้าทั้ง 2 ข้าง โดยให้เข่าสูงขึ้นและงอสะโพกมากขึ้น จะทำให้มุมของลำไส้ตรงมากขึ้น วิธีนี้อาจช่วยให้ถ่ายง่ายขึ้นในผู้ป่วยบางราย
- การสวนล้างลำไส้ด้วยน้ำปริมาณมาก (500-3,000 มล.) หรือนิยมเรียกว่า “ดีท๊อกซ์ลำไส้” อาจมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการท้องผูก วิธีนี้เป็นที่นิยมในการแพทย์ทางเลือกแต่ ‘ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยทำด้วยตนเอง’ เนื่องจากอาจมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ลำไส้ทะลุ ติดเชื้อรุนแรง เสียชีวิต หรือบางสูตรใช้น้ำร้อนมากๆ หรือใส่สารต่างๆ รวมกับน้ำ อาจทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่บาดเจ็บเสียหายได้
- ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วกระตุ้นการถ่ายอุจจาระ เนื่องจากไม่มีหลักฐานสนับสนุนถึงประสิทธิภาพ อีกทั้งอาจสัมพันธ์กับการเกิดแผลในลำไส้ได้
‘ยารักษาอาการท้องผูก’ กับผลข้างเคียงที่ควรรู้
หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรใช้ยาร่วมด้วย โดยอาจจะใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกันมากกว่า 1 ชนิดก็ได้ ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาอาการท้องผูกนั้นมีหลายชนิด อีกทั้งยังมีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ซึ่งยาแต่ละกลุ่มก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันดังนี้
ท้องผูกแบบไหนที่ต้องระวัง!
ถ้าหากว่าใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นอีกก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพิ่มเติม เพื่อแยกชนิดของโรคท้องผูกเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบจำเพาะเจาะจง หากอาการท้องผูกเรื้อรังเป็นมานานแล้วตั้งแต่อายุน้อย ไม่มีอาการเตือนก็ยังไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าหากเพิ่งมีอาการท้องผูกครั้งแรกตอนอายุมากกว่า 50 ปี อุจจาระมีเลือดปน ท้องผูกสลับท้องเสีย มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในญาติสายตรง แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อส่องกล้อง เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
–
อ้างอิง: “แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังในประเทศไทย พ.ศ. 2564” โดยสมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย)