สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่แล้วนั้น การมีลูกคนแรกถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การนอน พัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูก รวมถึงการเจ็บป่วยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก เชื่อว่าสำหรับการเจ็บป่วยของลูกครั้งแรกนั้นน่าจะสร้างทั้งความตื่นเต้นและตกใจกลัวให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมากแน่ๆ เพียงแค่ลูกเล็กนั้นมีไข้เพียงเล็กน้อย แต่เวลาผ่านไปประสบการณ์จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้ว่าถ้าลูกมีไข้นั้นควรจะทำอย่างไร แต่หากว่าวันหนึ่ง “อาการมีไข้สูงของลูกนั้นมาพร้อมกับอาการเกร็งทั้งตัว” เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยเจอคงตกใจกลัวจนไม่รู้ว่าจะช่วยลูกอย่างไรดี หากคุณเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่แล้วละก็ไม่ควรพลาดที่จะอ่านบทความนี้ เพราะเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับลูกของคุณโดยไม่คาดคิด
คุณหมอคะ ลูกมีไข้สูงแล้วเกร็งทั้งตัว ‘ทำอย่างไรให้ลูกหยุดชัก’ คะคุณหมอ
ในขณะที่เด็กมีอาการชักเกร็งทั้งตัว สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรทำ คือ ‘ตั้งสติ’ เนื่องจากการดูแลเบื้องต้นจะสามารถลดอันตรายที่เกิดจากอาการชักได้ สำหรับคำถามว่าทำอย่างไรให้หยุดชัก คือ ส่วนใหญ่ อาการชักจะหยุดได้เองภายใน 3-5 นาที แต่ในความรู้สึกเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลพบเห็นจะรู้สึกยาวนานกว่าความเป็นจริง เนื่องจากความเป็นห่วงลูกและความตกใจ ถ้าอาการชักไม่หยุดภายใน 3-5 นาที จำเป็นต้องได้รับยาหยุดชัก แนะนำให้โทรหา 1669
ลูกเกร็งทั้งตัวสาเหตุเกิดจากอะไรคะคุณหมอ
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการชักที่เกิดร่วมกับไข้ในเด็ก คือ
1) ภาวะชักจากไข้ ซึ่งไม่ส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่แพทย์ทุกคนต้องประเมิน คือต้องมั่นใจว่าอาการชักและไข้นั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในสมอง
2) การติดเชื้อในสมอง เนื่องจากทำให้เกิดผลเสียต่อเด็กถ้าได้รับการรักษาล่าช้า
3) โรคลมชักบางชนิดในเด็ก แต่พบน้อยมาก
เมื่อลูกเกิดเหตุการณ์แบบนี้ควรดูแลหรือปฏิบัติอย่างไรบ้างคะ
ถ้าพบเห็นเด็กที่อาการชัก สิ่งแรกที่ทำ คือ ตั้งสติ ดูแลอย่าให้เกิด ‘อันตรายจากอาการชัก’ โดยจัดให้อยู่ในท่านอนและเอาสิ่งของที่อยู่รอบข้างออก เพื่อป้องกันการกระแทกในขณะที่มีอาการชัก และมีสิ่งที่ห้ามทำคือ
“ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด”
เนื่องจากอาการชักมักจะหยุดได้เอง ถ้าอาการชักไม่หยุดภายใน 3-5 นาที จำเป็นต้องได้รับยาหยุดชัก แนะนำให้โทรหา 1669
มี ’ข้อห้าม’ หรือ ‘ความเข้าใจผิด’ ใดที่ผู้ปกครองควรทราบหรือไม่คะ
ข้อห้ามที่สำคัญ ในการดูแลคนที่มีอาการชัก คือ “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด” เพราะการกระทำเหล่านี้ สามารถทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ที่มีอาการชักหรือผู้ให้การช่วยเหลือได้
ความเข้าใจผิด ที่พบบ่อยที่สุด คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักจะกัดลิ้นจนขาดแล้วเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ความจริงก็คือ ขณะที่ผู้ป่วยชักลิ้นมักจะตกอยู่ในช่องปาก เนื่องจากไม่รู้สติ การเอาสิ่งของใดก็ตามงัดปากจะส่งผลอุดกั้นทางเดินหายใจต่อผู้ที่มีอาการชักได้ ในหลายครั้งการเอาสิ่งของงัดปากขณะที่มีอาการชัก ทำให้ฟันของผู้ที่มีอาการชักหลุดและลงไปอุดหลอดลมได้ หรือในทางตรงข้ามผู้ให้ความช่วยเหลือทำการใช้นิ้วตัวเองใส่ปากผู้ที่มีอาการชัก อาจส่งผลให้มีบาดแผลใหญ่จากการโดนกัดจากผู้ป่วยได้
เมื่อลูกมีไข้มีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ชักบ้างไหมคะ
เมื่อลูกมีไข้ วิธีการป้องกันคือ การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ทุก 4-6 ชั่วโมง และเช็ดตัวลดไข้ โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรกของการมีไข้ เนื่องจากอาการชักจากไข้ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดในวันแรกของการมีไข้ ซึ่งยังไม่มีอาการใดให้สังเกตได้ก่อนมีอาการชัก มีข้อแนะนำว่าถ้าเด็กมีอาการซึมลงร่วมกับมีไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ แม้ว่ายังไม่มีอาการชักก็ตาม
‘โรคลมชัก’ กับ ‘ชักเพราะมีไข้’ ต่างกันอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคลมชักหรือไม่คะ
โดยทั่วไปเด็กที่มีอาการชักจากไข้และจะกลายเป็นโรคลมชักในอนาคตพบได้น้อย ข้อแตกต่างของโรคลมชักคือ อาการชักจะเกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับไข้ และมักจะเกิดซ้ำอย่างน้อยหรือมากกว่า 2 ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นโรคลมชัก การรักษาจำเป็นต้องกินยากันชักต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นอาการชักจากไข้สูง อาการชักทุกครั้งจะเกี่ยวข้องกับไข้ ซึ่งไม่ต้องกินยากันชักต่อเนื่อง
ลูกมีโอกาสที่จะชักซ้ำได้หรือไม่
ถ้าเป็นอาการชักจากไข้สูง โอกาสชักซ้ำพบได้ร้อยละ 30-50 ขึ้นกับอายุครั้งแรกที่มีอาการชัก ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นโรคลมชักแล้ว โอกาสชักซ้ำพบได้มากกว่าร้อยละ 60
การชักมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของลูกหรือไม่ อย่างไร
โดยส่วนใหญ่ลำพังอาการชักระยะเวลาสั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองหรือสติปัญญา ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อพัฒนาการ คือ สาเหตุของอาการชักเป็นหลัก หรือถ้าเด็กมีอาการชักยาวนานอาจส่งผลต่อสมองและพัฒนาการได้
จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นกับลูก คือคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือและดูแลลูกได้อย่างถูกวิธี การสังเกตและบันทึกอาการที่เกิดขึ้นกับลูกก็เป็นที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เพราะจะได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คุณหมอ และอย่าลืมว่าชักจากอาการไข้สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงเฝ้าระวังไม่ให้ลูกได้รับอันตรายจากการชักที่อาจเกิดจากสิ่งของที่อยู่บริเวณนั้น หวังว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่คงจะสามารถรับมือกับอาการชักเมื่อลูกมีไข้กันได้ไม่ยาก แต่หากรับมือไม่ไหวจริงๆ อย่าลืมโทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือกันนะครับ
–