เมื่อพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจเรามักนึกถึงกันแต่โรคซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้ว ยังมีโรคภัยอีกมากที่คุกคามสุขภาพจิตของคนเราอย่าง โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2563 ระบุว่ามีคนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล
จะรู้ได้ไงว่า กังวลเฉยๆ หรือเป็นโรควิตกกังวล?
ความวิตกกังวลถือเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวตามปกติของมนุษย์ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงหรืออันตราย ความวิตกกังวลถือว่ามีประโยชน์เพราะจะช่วยกระตุ้นให้สมองของเราตื่นตัวพร้อมป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเหล่านี้ควรจะหายไปเมื่อเรากลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่หากคุณรู้สึกวิตกกังวลต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากมีอาการร่วม เช่น กล้ามเนื้อตึงเกร็ง ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ รู้สึกกระสับกระส่าย กระวนกระวาย หายใจตื้น เป็นต้น รวมทั้งความวิตกกังวลนั้นทำให้คุณหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม การเรียน ทำงาน หรือแม้แต่การพบปะสมาชิกในครอบครัว … นี่คือสัญญาณของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีกหลายประเภท เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder), โรคแพนิก (Panic Disorder), โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) และโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) เป็นต้น โดยแต่ในละประเภท ผู้ป่วยจะมีอาการเฉพาะที่แตกต่างกันด้วย
หาต้นตอให้เจอ แก้โรควิตกกังวลได้ถูกจุด
นอกจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แล้ว มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรควิตกกังวล ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีต้นตอการเกิดโรคนี้แตกต่างกันไป การหาสาเหตุให้ถูกจุดจึงสำคัญมาก เพราะการรักษาจะได้มุ่งไปแก้ที่สาเหตุนั้นๆ โดยเฉพาะ
1 ปัญหาสุขภาพ
ผู้ป่วยโรคร้ายแรงหลายคนอย่างมะเร็ง มักถูกอาการวิตกกังวลเล่นงานทันทีเมื่อตรวจพบโรคร้าย แน่นอนว่านั่นไม่เป็นผลดีต่อการรักษาเลย ทางที่ดีที่สุดเมื่อรู้ตัวว่ากำลังเข้าข่ายโรควิตกกังวล ให้คุณปรึกษาแพทย์เพื่อหานักบำบัดมาดูแลสุขภาพใจของคุณไปพร้อมๆ กับรักษาโรคทางกาย หรืออีกหนทางหนึ่งที่ช่วยได้มากคือทำใจยอมรับความจริง ก่อนเดินหน้าต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมีสติ
2 การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ไอและคัดจมูก ยาลดความอ้วน เป็นต้น มีส่วนประกอบที่อาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวหรือกระวนกระวายได้ และอาจนำไปสู่โรควิตกกังวลในที่สุด ก่อนการรับยา คุณจึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ละเอียดเกี่ยวกับผลข้างเคียง หรือหากคุณมีอาการวิตกกังวล อาจปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวยา
3 การอดอาหาร
การอดอาหารทั้งๆ ที่เป็นเวลาที่ควรกินจะทำให้น้ำตาลในเลือดของคุณลดต่ำลง และอาจนำไปสู่โรควิตกกังวลได้ ทางที่ดีที่สุดคือกินให้ครบมื้อและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เช่น แซลมอน ข้าวโอ๊ต ถั่ว ธัญพืชต่างๆ และกล้วย เป็นต้น
4 ความเครียด
ชีวิตมีเรื่องให้เครียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน การเงิน ครอบครัว-ความสัมพันธ์ หรือปัญหาสุขภาพอย่างที่กล่าวไป ความเครียดที่มาแล้วไปนั้นไม่เป็นไร แต่หากปัญหาต่างๆ ยังคงคาราคาซังจนทำให้คุณเกิดความเครียดยาวนานต่อเนื่อง ก็อาจนำไปสู่โรควิตกกังวลเรื้อรังได้ ยังไม่นับที่ความเครียดมีแนวโน้มจะทำให้คุณนอนไม่หลับ กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการวิตกกังวลแย่ขึ้นไปกว่าเดิม
ระหว่างที่ค่อยๆ แก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ไปทีละเปลาะ คุณควรดูแลสุขภาพใจด้วยการหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียดทำเป็นประจำ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำสมาธิ หรืออาจศึกษาปรัชญาพุทธศาสนาที่สอนให้รู้จักปล่อยวาง
5 ทัศนคติด้านลบ
ความล้มเหลวหรือผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของชีวิต สิ่งสำคัญคือคุณจัดการกับมันอย่างไร? และคุณใช้คำพูดแบบไหนพูดกับตัวเอง? หากในสมองของคุณเต็มไปด้วยความคิดด้านลบและการต่อว่าต่อขานตัวเอง นอกจากคุณจะต้องพบเจอกับความผิดหวังแล้ว ก็ยังอาจเดินหน้าเข้าสู่โรควิตกกังวลด้วย เพราะทัศนคติด้านลบที่เกิดขึ้นนานๆ จัดเป็นชนวนชั้นดีที่จุดให้โรควิตกกังวลติดไฟลุกพรึ่บขึ้นมาได้
6 ความทรงจำเลวร้าย
เหตุการณ์สะเทือนใจในอดีตมักฝังรากลึกจนกลายเป็นบาดแผลที่เมื่อถูกสะกิดเพียงเล็กน้อยก็สามารถกลับมาหลอกหลอนคุณได้ ผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากความทรงจำเลวร้ายในอดีต จะถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์นั้นๆ สำหรับบางคน ปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นความทรงจำอาจเป็นกลิ่นบางอย่าง บางคนอาจเป็นเสียง บทเพลงหรือสถานที่บางแห่ง หากคุณต้องการเอาชนะอดีตและมูฟออนต่อ อาจพิจารณาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดจิตทางเลือก
การค้นหาต้นตอของความวิตกกังวลอาจใช้เวลา แต่หากต้องการรักษาโรคนี้ให้ถูกจุด คุณก็ต้องหามันให้เจอ เคล็ดลับข้อหนึ่งคือ เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่าถูกโรควิตกกังวลจู่โจม ให้คุณจดบันทึกไว้ว่าคุณมีอาการอย่างไร ก่อนหน้านั้นคุณพบเจอกับอะไร ตกอยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมแบบไหน จากนั้นเมื่อย้อนกลับมาดูบันทึก คุณอาจพบคำใบ้ถึงต้นตอที่นำคุณไปสู่ความวิตกกังวลได้ และนั่นแหละ… คุณกำลังเข้าใกล้การรักษาโรคนี้ให้หายดีแล้ว
เราขอเอาใจช่วยผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคนี้ทุกคนให้สามารถผ่านพ้นมันไปได้ด้วยดี
–