‘อุจจาระ’ กับ ‘อาการท้องผูก’ เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

Digestive / Health

มีหลากหลายวิธีที่เราสามารถตรวจเช็คเพื่อดูแลสุขภาพของเราได้ด้วยตนเอง หนึ่งในวิธีนั้นคือเรื่องง่ายๆ ที่เราทำอยู่ทุกวัน แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นคือเรื่อง… อุจจาระ

มีอะไรอยู่ในอุจจาระของเราบ้าง

สิ่งที่ประกอบกันเป็นอุจจาระคือ กากอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ โปรตีน แบคทีเรีย และสารอื่นๆ ที่ถูกผลิตออกมาจากลำไส้ คนแต่ละคนมีอุจจาระที่มีขนาด รูปร่าง สี และกลิ่น แตกต่างกันไป แต่มีลักษณะบางอย่างของอุจจาระที่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น การติดเชื้อ ความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร หรือแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงกว่านั้นอย่างมะเร็ง 

สีของอุจจาระ

Grinning face with no fill สีน้ำตาล
อุจจาระที่ดีควรมีสีน้ำตาล สีน้ำตาลของอุจจาระเกิดจากน้ำดีในตับที่ทำหน้าที่ย่อยไขมัน จริงๆ แล้ว น้ำดีมีสีเหลือง/เขียว แต่เมื่ออุจจาระเดินทางผ่านทางเดินอาหารจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีกลายเป็นสีน้ำตาล

Neutral face with no fill สีเขียว
ถ้าอุจจาระมีสีเขียวนิดหน่อยถือว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าเขียวมากจนกลบน้ำตาลไปหมด อาจเป็นเพราะคุณกินอาหารที่มีสีเขียวเป็นจำนวนมาก เช่น ผักโขม เป็นต้น หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ อุจจาระของคุณเดินทางผ่านลำไส้เร็วเกินไป ทำให้สารเคมีในลำไส้และแบคทีเรียไม่สามารถย่อยน้ำดีได้

Confused face with no fill สีเหลือง
อุจจาระที่มีสีเหลือง มีความมัน และกลิ่นเหม็น อาจหมายถึงคุณบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเกินไป หรือมีปัญหาการดูดซึมสารอาหารในช่องท้อง

สีอ่อน ซีด
อาจเป็นสัญญาณของท่อน้ำดีตีบตัน น้ำดีจึงออกมายังลำไส้ได้ไม่เพียงพอ โดยอาจมีก้อนนิ่วหรือเนื้องอกอุดตันอยู่

Crying face with no fill สีแดงหรือสีดำ
หากคุณขับถ่ายออกมาเป็นสีแดงหรือดำติดต่อกันนานเกิน 2-3 วัน คุณควรพบแพทย์ อุจจาระสีแดงอาจเกิดจากมีเลือดออกในลำไส้ส่วนล่าง และอุจจาระสีดำอาจหมายถึงมีเลือดออกในลำไส้ส่วนบน ซึ่งถือเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม อย่างไรก็ตาม ก่อนไปหาหมอ ลองสังเกตดูก่อนว่า คุณรับประทานผลไม้ที่มีสีแดงเข้าไปหรือเปล่า เช่น บีทรูท แครนเบอร์รี่ น้ำมะเขือเทศ เพราะอาจทำให้อุจจาระมีสีแดงได้ เช่นเดียวกับชะเอม อาหารเสริมธาตุเหล็ก และยาฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุให้อุจจาระมีสีดำ

รูปทรงของอุจจาระ

เรียวยาว / ทรงไส้กรอก 
คืออุจจาระที่สุขภาพดีที่สุด ถ้ายิ่งอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกมาได้ง่ายก็ยิ่งถือว่าดีเยี่ยม

ยาวเป็นท่อนแต่ไม่เรียบ (คล้ายหนอนผีเสื้อ)
บ่งบอกถึงอาการท้องผูกเล็กน้อย

ก้อนกรวดเล็กๆ
อุจจาระที่ออกมาเป็นก้อนเล็กๆ และแข็ง หมายถึงอาการท้องผูก ที่อาจเกิดขึ้นได้บ้างในบางครั้งคราว แต่ไม่ควรเกิดขึ้นบ่อย

Confused face with no fill อะมีบา 
ให้นึกรูปทรงอะมีบาคงยากหน่อย แต่อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นชิ้นเล็กๆ คล้ายทรงก้อนกรวด แต่อ่อนนุ่ม ไม่กลมแข็งเหมือนก้อนกรวด ขับถ่ายออกมาได้ง่าย อุจจาระในรูปทรงนี้อาจหมายถึงการขาดไฟเบอร์ คำแนะนำคือคุณควรรับประทานผักและธัญพืชให้มากขึ้น

อ่อนนุ่ม / เหลว / น้ำ
นี่คือสัญญาณของอาการท้องเสีย โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับว่าอุจจาระของคุณเหลวแต่ยังพอมีรูปทรง (ท้องเสียอ่อนๆ) หรือว่าเหลวเป็นน้ำ (ท้องเสียรุนแรง) หากคุณขับถ่ายออกมาในลักษณะนี้นานเกิน 2-3 วัน ควรรีบพบแพทย์ 

อุจจาระควรจมหรือลอย

อุจจาระที่ลอยจะมีคุณภาพมากกว่าจม เพราะหมายถึงอุจจาระมีความหนาแน่นน้อย อันเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ส่วนอุจจาระที่จมนั้นมักเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์มากกว่าไฟเบอร์ 

อย่างไรก็ตาม อุจจาระที่ลอยไม่ควรมาพร้อมกับอาการปวดท้อง ท้องผูก ท้องอืด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้แปรปรวน (Irritate Bowel Syndrome)

ขับถ่ายแบบไหนถึงเรียกว่าท้องผูก

เรามักเข้าใจว่าท้องผูก คือการมีอุจจาระที่แข็งและยากต่อการขับถ่าย ความถี่ในการขับถ่ายลดลงกว่าปกติ แต่จิรงๆ แล้วภาวะท้องผูกยังรวมถึงการมีอาการใดอาการหนึ่ง ดังนี้

  • การมีอุจจาระแข็ง
  • ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย
  • ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ
  • มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่ายหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • หลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมดหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด

หากพบว่ามีอาการท้องผูก ควรรีบปรับพฤติกรรมการขับถ่าย โดยให้รีบขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกอยากขับถ่ายในครั้งแรก อย่ารอจนสัญญาณการขับถ่ายอ่อนลง รวมถึงการนั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม ด้วยการหาเก้าอี้สูงประมาณ 20 ซม. มาวางเท้าตอนนั่งขับถ่าย โน้มตัวไปด้านหน้า 35 องศา ก็จะช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น 

วิธีป้องกันอาการท้องผูก

รู้หรือไม่ว่า 70% ของภูมิคุ้มกันในร่างกายอยู่ในระบบย่อยอาหารนี้เอง อาการท้องผูกหรือท้องเสียจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม จึงควรดูแลลำไส้ให้แข็งแรงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักผลไม้อย่างแอปเปิ้ล แครอท ถั่วฝัก และธัญพืชไม่ขัดสี แล้วไฟเบอร์จากอาหารเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้อาหารเดินทางผ่านลำไส้ได้เร็วขึ้น
  • ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว น้ำจะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายและช่วยลดอาการท้องผูก
  • ลดความเครียด อย่าลืมว่าความเครียดเป็นอีกสาเหตุสำคัญของท้องผูกเหมือนกัน
  • สำหรับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติการอักเสบในลำไส้ หรือมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ควรเข้ารับการตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้อง

ท้องผูกแบบไหนควรพบแพทย์

สำหรับผู้ที่ถ่ายอุจจาระยากหรือ มีอาการท้องผูกเป็นประจำ หากอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายเป็นเลือด มีลักษณะ สี หรือขนาดเปลี่ยนไป ขณะขับถ่ายมีเลือดออกทางทวารหนัก ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นจากปกติ รู้สึกปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา น้ำหนักลดโดยไม่ทราบเหตุ มีภาวะซีด อ่อนเพลีย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

แม้อาการท้องผูกจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา รวมไปถึงอาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกายในระยะยาว ดังนั้นหากเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของตนเอง หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการท้องผูก…อย่าลืมปรับพฤติกรรมการทานอาหาร การขับถ่าย และการออกกำลังกาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมาได้

ที่มา:
healthline.com
piedmont.org
medicalnewstoday.com

บทความที่เกี่ยวข้อง