7 ทางเลือกในการรักษาออฟฟิศซินโดรม

Bone & Muscle / Health

โรคออฟฟิศซินโดรมคือปัญหาสุขภาพที่คนยุคนี้เป็นกันมากมาย เพราะการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อยู่ในท่านั่งที่ผิดวิธี และไม่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมัดเดิมถูกใช้ซ้ำๆ ต่อเนื่องยาวนานจนเกินกำลัง กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจึงหดเกร็งและตึงผิดปกติ (ที่เรามักเรียกกันว่า เส้นตึง)โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง สะบัก ไหล่ ซึ่งอาการก็มีตั้งแต่ระดับปวดเมื่อยธรรมดา ไม่นานก็หายได้ ไปจนถึงระดับปวดตึงตลอดเวลา สร้างความทรมาน และใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก ถึงขั้นนี้หลายๆคนอาจมองหาแนวทางในการรักษาและบรรเทาอาการเจ็บปวดจากออฟฟิศซินโดรม โดยปัจจุบันมีแนวทางเลือกในการรักษาอยู่หลายวิธี จะมีวิธีไหนบ้างไปติดตามกัน

1. การรักษาด้วยยา 

ต้องยอมรับว่าการรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่มักเลือกใช้ เนื่องจากยารักษาอาการในปัจจุบันนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป ดังนั้นมารูจักยารักษาอาการออฟิศซินโดรมกันซักนิดดีกว่า 

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้คำแนะนำการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อจากสาเหตุออฟฟิศซินโดรม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ อาจใช้รักษาควบคู่กันไป หรือใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ หรือที่เรารู้จักกันดีก็คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งเป็นยาระงับอาการปวดทั่วไปที่ทุกบ้านมักจะควรมีติดบ้านไว้ อาจใช้เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาเมื่อมีอาการปวดเมื่อยได้ โดยไม่ต้องพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรก่อน เพราะค่อนข้างปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง ควรรับประทานครั้งละ 1 เม็ด หรือ 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง แต่ข้อควรระวังก็คือไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ด (หรือ 4,000 มิลลิกรัม) ต่อ 1 วัน และไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เกินยาขนาด ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงต่อตับได้

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants) คือยาที่ใช้ในการลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในกรณี่ที่ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีอาการปวดตึงมาก ขยับเปลี่ยนท่าลำบาก ไม่สามารถนอนได้ ใช้ชีวิตลำบาก ก็อาจต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเข้ามาเป็นทางเลือก 

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในกรณีที่มีการอักเสบร่วมด้วย แพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้กินยาลดการอักเสบ แต่มีข้อควรระวังคือ อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรกินหลังอาหารทันที นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงกับไตและหลอดเลือดหัวใจจึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

อย่างไรก็ตามยาทุกชนิดให้ผลในแง่ของการรักษาแต่ก็ตามมาด้วยผลข้างเคียง ดังนั้นการเลือกใช้ยาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรเพื่อความแม่นยำในการรักษาและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

2. การทำอัลตราซาวด์บำบัด 

เป็นการรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ให้ผลความร้อนในลักษณะความร้อนลึก ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก  และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

3. การรักษาด้วยแผ่นประคบร้อน 

เป็นรูปแบบการรักษาผ่านการนำผลของความร้อนของแผ่นประคบร้อน (Hot pack)  ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดภายใต้ผิวหนัง  ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

4. การนวดกายภาพบำบัด 

เป็นการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย 

5. การฝังเข็ม (Dry Needling) 

โดยการใช้เข็มที่มีขนาดเล็กปักลงไปในจุดที่กล้ามเนื้อเกร็งตัว โดยให้ปลายเข็มสะกิดเส้นใยกล้ามเนื้อ เพื่อให้คลายตัวและอาการปวดจะบรรเทาลง

6. การรักษาด้วยคลื่นรักษาแบบรวมพลังงาน (Focused Shockwave Therapy)

เป็นคลื่นกระแทกที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บ เกิดการกระตุ้นบริเวณที่บาดเจ็บทำให้เร่งการซ่อมแซมบริเวณดังกล่าว กระตุ้นให้เนื้อเยื่อหลั่งสารลดการอักเสบ ลดอาการปวด และรักษาฟื้นฟูเนื้อเยื่อ

7. การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation:PMS) 

เป็นการกระตุ้นบริเวณที่ปวดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยลดอาการกล้ามเนื้อตึงตัว ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ และใช้กระตุ้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งาน

ปรับพฤติกรรมคือยารักษาในระยะยาว

แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมที่ปลายเหตุเท่านั้น ถือเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเพื่อลดความเจ็บปวดทรมาน แต่ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ การที่กล้ามเนื้อมีอาการปวดเกร็งและตึง นั่นหมายความว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อบริเวณนั้นกำลังมีปัญหา นอกจากใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการแล้วก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุร่วมด้วย เมื่ออาการปวดเริ่มผ่อนคลายหรือหายดี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดการเกิดซ้ำ หลีกเลี่ยงอาการแย่ลงไปกว่าเดิม

สำหรับวัยทำงาน สาเหตุทั่วไปของการเกิดออฟฟิศซินโดรมมักเกิดจากการนั่งทำงานนานๆ โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรปรับท่านั่งทำงานให้ถูกวิธี คือ นั่งหลังตรงให้หลังพิงกับพนักพิงเก้าอี้ ปรับจอให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อไม่ให้คอทำงานหนัก วางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอก ให้ข้อศอกทำมุม 90 องศา ไม่บิดหรืองอ วางเท้าที่พื้นให้ขาทำมุม 90 องศา และไม่นั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ลุกมายืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นระยะ เช่นทุก 15 นาที นอกจากนี้ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงโดยการ หมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเราโดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนแกนกลางลำตัว เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ซึ่งมักได้รับผลกระทบโดยตรงจากท่านั่งของเราอยู่เสมอ โดยเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะกับวัยและความถนัดของเรา และอย่าลืมพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว พร้อมรับมือกับกิจกรรมในแต่ละวันอย่างสุขกายสบายใจ 

ที่มา: 
oryor.com
paindoctor.com
www.spine-health.com
www.webmd.com
www.singlecare.com
www.drugs.com
www.paolohospital.com
www.bumrungrad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง