3 อาการบาดเจ็บจากการวิ่งที่คุณอาจไม่รู้

Bone & Muscle / Health

‘การวิ่ง’ เป็นกีฬาที่คนโดยทั่วไปคุ้นเคย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ประหยัดและสะดวกสบายแค่มีรองเท้าผ้าใบเพียงคู่เดียวก็สามารถออกกำลังกายได้แล้ว อีกทั้งยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆอีกมากมาย แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามคือ อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่ง ด้วยเห็นว่าเป็นกีฬาที่ไม่ผาดโผนจึงอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป หากคุณกำลังมีอาการปวดบริเวณหัวเข่าแล้วล่ะก็อาจมีสาเหตุมาจากการวิ่งก็เป็นได้

ทำความรู้จัก 3 อาการบาดเจ็บจากการวิ่ง

อาการบาดเจ็บจากการวิ่งอาจมีหลายรูปแบบและหลายระดับความรุนแรง เรามาทำความรู้จักอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าที่เกิดจากการวิ่งกันดีกว่า เพราะการปวดบริเวณหัวเข่านั้นมักส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ซึ่งอาการปวดบริเวณหัวเข่าจากการวิ่งส่วนใหญ่ 3 อาการมีดังนี้

Patello-femoral Pain Syndrome (PFPS) หลายคนคุ้นเคยได้ยินชื่อ runner’s knee หรือ jumper’s knee กันมาบ้าง อันที่จริงแล้วก็คืออาการ  patello-femoral pain syndrome (PFPS) นั่นเอง ซึ่งสาเหตุของอาการนี้มักเกิดจากการเสียดสีของกระดูกอ่อนที่ลูกสะบ้าและกระดูกอ่อนต้นขา จนทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณด้านหน้าของหัวเข่า โดยเฉพาะตอนทำกิจกรรมที่ต้องมีการย่อหรืองอเข่าเยอะๆ รวมไปถึงการขึ้นลงบันได หลายๆ คนอาจมีอาการปวดที่บริเวณด้านหน้าเข่าจากการที่นั่งงอเข่าเป็นเวลานานๆ จนบางครั้งอาจมีเสียงที่ใต้ลูกสะบ้าเวลาที่งอหรือเหยียดเข่าได้

Iliotibial Band Friction Syndrome (ITBFS) เกิดจากการอักเสบของแผงเส้นเอ็นที่บริเวณต้นขาด้านนอก หรือมีการตึงตัวของเส้นเอ็นเริ่มตั้งแต่จากสะโพกทอดยาวไปจนถึงด้านนอกของหัวเข่า อันเนื่องมาจากการเสียดสีของเส้นเอ็นบริเวณดังกล่าวจากการใช้งานอย่างซ้ำๆ ผู้ที่มีปัญหา ITBFS จะมีอาการปวดโดยเฉพาะที่บริเวณด้านนอกของหัวเข่าเมื่อมีกิจกรรม เช่น จากการวิ่ง หรือเดินขึ้น-ลงบันได บางครั้งอาจมีเสียงที่ด้านนอกของหัวเข่าจากการเสียดสีของเส้นเอ็นได้

Popliteal Tendinitis มักมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการที่มีการใช้งานซ้ำๆ บ่อยๆ ในลักษณะที่มีการหมุนหน้าแข้งหรือหัวเข่าเข้าด้านใน ร่วมกับการวิ่งลงทางลาดชัน ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นบริเวณด้านหลังเข่าส่วนด้านนอก (Popliteal tendon)

วิธีแก้ไขอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง

การรักษาอาการบาดเจ็บจากการวิ่งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากมีอาการปวดหรือบาดเจ็บที่รุนแรงก็ควรหยุดพักจากการวิ่งก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และเริ่มรักษาอาการดังต่อไปนี้

  • กินยาแก้ปวดชนิดลดอาการอักเสบ (NSAIDs)
  • ทำกายภาพบำบัด 
  • เริ่มบริหารกล้ามเนื้อ เมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงโดยเฉพาะกล้ามสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อด้านหลังเข่า รวมไปถึงกล้ามเนื้อน่องและข้อเท้าให้เกิดความมั่นคงที่เพียงพอในขณะวิ่งออกกำลังกาย 
  • กลับมาเริ่มวิ่งใหม่ โดยเริ่มจากการวิ่งเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางหรือความเร็วขึ้นไปในระดับที่ไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ

หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการวิ่ง

เพื่อให้การวิ่งออกกำลังกายเป็นเรื่องสนุกและหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บในการวิ่งทุกครั้ง ก่อนการออกกำลังกายควรมีการวอร์มหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง และควรมีการเสริมสร้างความแข็งเรงของกล้ามเนื้อขา เพื่อให้มีความแข็งแรงหรือสามารถทนทานต่อการวิ่งได้ หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พยายามไม่วิ่งหรือมีกิจกรรมที่หนักมากเกินไปจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ ที่สำคัญพยายามไม่ให้มีน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไปเนื่องจากจะมีผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บจากการวิ่งได้

สุดท้ายแล้วนักวิ่งมักจะมีความท้าทายในการออกกำลังกายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องระยะทาง หรือความเร็วจากการวิ่ง อันเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นนักวิ่งต้องประเมินสุขภาพของตัวเองให้ดี ไม่พยายามเพิ่มความเร็วหรือวิ่งด้วยระยะทางที่เกินกำลังของตัวเองมากจนเกินไป หากนักวิ่งระมัดระวังในประเด็นตรงนี้ร่วมกับมีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย ก็จะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่งได้

บทความที่เกี่ยวข้อง